Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อย่างไรคือคนปกติและคนสุขภาพจิตดีเป็นอย่างไร?

คนสุขภาพจิตดีเป็นอย่างไร อย่างไรคือคนปกติ ?

คนปกติที่มีสุขภาพจิตดีคือคนที่ไม่มีโรคทางจิตเวช มักมีความรู้สึกเป็นสุข สามารถทำอะไรๆได้อย่างเต็มศักยภาพของตนเอง มีความสามารถที่จะจัดการกับสิ่งแวดล้อม และมีจิตใจที่เข้มแข็ง

ชีวิตของคนที่มีสุขภาพจิตดีไม่จำเป็นจะต้องประสบแต่ความสุขสมหวังไปเสียหมดเพราะชีวิตของคนเราคงจะยากที่จะราบรื่นไปเสียทุกอย่าง ในขณะที่ชีวิตมีปัญหาคนที่มีสุขภาพจิตดีก็เกิดความเครียดได้และอาจมีอาการบางอย่างของโรคทางจิตเวชได้ เช่น อาการย้ำคิดย้ำทำ อาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ในขณะที่ชีวิตมีปัญหาคนที่มีสุขภาพจิตดีจะหาทางจัดการกับปัญหาโดยใช้ทั้งเหตุผลและความรู้สึก บางครั้งก็แก้ปัญหาได้บางครั้งก็แก้ไม่ได้ แต่ไม่ว่าผลที่ได้จะเป็นอย่างไรโดยรวมแล้วคนที่มีสุขภาพจิตดีจะมีความรู้สึกที่ดีและรู้สึกเป็นสุขมากกว่าเป็นทุกข์

หลายๆครั้งเวลาที่เราพูดถึงสุขภาพจิตเรามักรู้สึกเหมือนกับว่าเรารู้ว่าสุขภาพจิตดีเป็นอย่างไรหรือสุขภาพจิตไม่ดีเป็นอย่างไร แต่บางครั้งเมื่อเราต้องตอบคำถามว่าสุขภาพจิตที่ดีหรือคนปกติที่มีสุขภาพจิตดีเป็นอย่างไรเรามักจะตอบไม่ถูก จริงๆแล้วคำถามนี้ก็เป็นสิ่งที่ตอบไม่ง่ายนักและก็มีคนช่วยเราคิดกันมาก่อนหน้านี้มากมาย

โดยพอสรุปแนวความคิดได้ดังนี้
1.คนปกติก็คือคนที่มีอะไรๆอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย มีความรู้สึกนึกคิดและทำอะไรๆได้เหมือนคนทั่วๆไปในสังคมนั้น แนวคิดแบบนี้ก็ง่ายดี แต่ในบางสังคมที่มีคนสุขภาพจิตไม่ดีหรือมีคนที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอยู่มากๆ เช่น สังคมที่ชอบใช้ความรุนแรง สังคมที่ใช้การฆ่าตัวตายเป็นทางแก้ปัญหา หรือสังคมที่มีการดื่มเหล้ามากๆ เราก็จะถือว่านั่นเป็นสิ่งปกติเพราะคนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น
   
2.คนที่มีสุขภาพจิตดีคือคนที่ไม่ป่วย ไม่มีโรคทางจิตเวช แนวคิดแบบนี้ถือว่าถ้าคนๆนั้นไม่มีอาการหรือพฤติกรรมที่แสดงถึงโรคทางจิตเวชก็ให้นับว่าเป็นคนปกติที่มีสุขภาพจิตดี  แต่ในความจริงสุขภาพจิตดีควรเป็นอะไรที่มากกว่าการไม่ป่วย  คนสุขภาพจิตดีนั้นนอกจากจะต้องไม่ป่วยแล้วต้องสามารถมีความรู้สึกเป็นสุข สามารถทำอะไรๆได้เต็มที่ตามศักยภาพของตนทั้งทางร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ความรู้สึก คนที่หัวดี เรียนเก่ง ไม่ป่วย แต่อยู่กับใครหรือทำงานกับใครก็มีปัญหาไปหมดไม่ถือว่าเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี
    
3.สุขภาพจิตที่ดีและที่ไม่ดีเป็นสิ่งเดียวกันแต่ต่างกันในเชิงปริมาณหรือความรุนแรงเท่านั้น ในคนปกติบางครั้งก็มีอาการของโรคทางจิตเวชได้ เช่น บางครั้งเราล็อคประตูก่อนออกจากบ้านตามปกติแล้วแต่ในใจก็ยังเกิดความไม่แน่ใจจนอดไม่ได้ที่จะกลับมาตรวจดูใหม่ว่าล็อคประตูแล้วแน่นะ ซึ่งเป็นอาการย้ำคิดย้ำทำ แต่ถ้าอาการนั้นเป็นไม่รุนแรงและเกิดไม่บ่อยจนเกิดปัญหาเราก็ยังถือว่าเป็นพฤติกรรมปกติอยู่
    
4.คนปกติที่มีสุขภาพจิตดีคือคนที่ปรับตัวได้ คนที่ปรับตัวได้ดีไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์ต่อสังคม หรือเป็นคนดี คนที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ สามารถอยู่ได้ สามารถหาความสุขใส่ตัวและหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆได้ถือว่าเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดีตามแนวคิดนี้ สังคมที่ดีต้องการมากกว่าการมีคนที่ปรับตัวได้มาอยู่รวมๆกัน
    
5.คนที่มีสุขภาพจิตดีต้องมีความสามารถที่จะจัดการกับสิ่งแวดล้อมได้ แนวคิดนี้คิดว่าคนที่มีสุขภาพจิตดีควรจะมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่สามารถปรับตัวอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ได้ เช่น ถ้าเพื่อนที่โรงเรียนชอบแกล้ง คนที่มีสุขภาพจิตดีตามแนวคิดที่ 4 ก็จะทนเอา คอยระวังตัวอย่าให้เขาแกล้งได้ แต่คนที่มีสุขภาพจิตดีตามแนวคิด (ที่ 5) นี้ควรจะสามารถหาวิธีจัดการให้เขาเลิกแกล้งหรือไม่มาแกล้งได้
    
6.คนที่มีสุขภาพจิตดีคือคนที่มีจิตใจที่เข้มแข็ง (good ego strength) คนที่มีจิตใจที่เข้มแข็งจะสามารถทนความเครียดได้มากและจะสามารถจัดการกับสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าคนที่มีจิตใจที่ไม่เข้มแข็ง  คนที่มีจิตใจที่ไม่เข้มแข็งนั้นถึงแม้ว่าจะยังไม่ป่วย ถึงแม้ว่าจะยังปรับตัวได้ดีอยู่ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตมากกว่าคนที่มีจิตใจที่เข้มแข็ง
เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย musa

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อิสรภาพและสันติภาพ

อิสรภาพในความหมายทั่วไปหมายถึงสภาวะที่เป็นอิสระ 

(นั่นคือ ไม่ถูกจำกัด ไม่ถูกกักขังหรือถูกตีตรวน)

ในทางปรัชญาและประวัติศาสตร์

ชอง-ชาก รุสโซ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้ยืนยันว่าสภาพที่เป็นอิสระนั้น เป็นสิ่งที่ติดมากับความเป็นมนุษย์ เป็นหน้าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการมีวิญญาณและร่างกาย ผลสืบเนื่องก็คือการปฏิสัมพันธ์ต่อมาหลังจากการเกิด ล้วนแต่เป็นการสูญเสียความเป็นอิสรภาพไป ไม่ว่าจะเป็นทั้งโดยความสมัครใจและไม่สมัครใจ

การโหยหาอิสรภาพมักถูกใช้เพื่อปลุกระดมการปฏิวัติ ตัวอย่างเช่น ในบันทึกในไบเบิลที่กล่าวถึงการที่โมเสสได้นำผู้คนอพยพหนีจากความเป็นทาสไปสู่ความเป็นอิสระ ในสุนทรพจน์ที่มีชื่อเสียงของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เขากล่าวว่า
    
 My country 'tis of thee, sweet land of liberty, of thee I sing. Land where my fathers died, land of the Pilgrim's pride, From every mountainside, let freedom ring!

คำว่า อามา-กิ ตัวอักษรเขียนของชาวสุเมเรียน เป็นสัญลักษณ์เขียนเก่าแก่ที่สุดที่ทราบกัน ที่มีความหมายถึงอิสรภาพ

การใช้คำว่าอิสรภาพ 
อิสรภาพทางการเมือง คือภาวะที่ปราศจากข้อกีดกันในด้านการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องของการพูด, การปฏิบัติทางศาสนาและสื่อ
   
อิสรภาพของบุคคล มักใช้เพื่อหมายถึงการไม่ถูกจองจำ (ซึ่งรวมถึงการไม่เป็นเหยื่อของการจองจำที่ผิดพลาด) และยังอาจใช้เพื่อหมายถึงการใช้สิทธิประโยชน์จากการเป็นสมาชิกของสถานที่หรือสมาคมด้วย
   
อิสรภาพทางเศรษฐกิจ บางครั้งมีความหมายเทียบเท่ากับอำนาจทางเศรษฐกิจ คำนี้เมื่อใช้โดยนักเศรษฐศาสตร์มักหมายถึงระดับที่รัฐบาลไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับ ผู้กระทำการทางเศรษฐกิจ เช่นในดัชนีด้านอิสรภาพทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์บางคน เช่นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับดัชนีของวารสารวอลล์สตรีต ได้อธิบายประเด็กด้านอิสรภาพทางเศรษฐกิจว่าเป็น "ระดับที่ภาคสาธารณะเข้ามาแทรกแซงกิจการของภาคเอกชน" และได้ให้เหตุผลว่ายิ่งรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับอิสรภาพทางเศรษฐกิจของธุรกิจน้อยลงเท่าใด ระบบเศรษฐกิจก็ยิ่งจะมีแนวโน้มดีขึ้นเท่านั้น     บางแนวคิดได้ให้ความเห็นกลับกันว่า ภาคสาธารณะอาจไม่เป็นสิ่งที่ไม่ต้องการของระบบเศรษฐกิจเสมอไป และกิจกรรมของรัฐบาลนั้นไม่จำเป็นจะต้องถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงหรือการลดทอนเสรีภาพ
 
อิสรภาพทางซอฟต์แวร์ หรืออิสรภาพทางสารสนเทศ - สารสนเทศ (โดยเฉพาะซอฟต์แวร์) ปราศจากข้อผูกมัดและข้อจำกัดในการใช้ การแก้ไข การแจกจ่าย และการสร้างสรรค์    ดูเพิ่มเติม: ซอฟต์แวร์เสรี, ซอฟต์แวร์รหัสเปิด และฟรีแวร์
   
อิสรภาพในการแสดงออก (หรือการพูด) มีลักษณะที่คล้ายกับอิสรภาพทางสารสนเทศ แต่มักใช้เพื่อหมายถึงภาวะในสังคมที่รัฐบาลหรือองค์กรที่คุมอำนาจอยู่ ไม่จำกัดหรือกีดกันการสร้างสรรค์ การใช้ การแก้ไข และการเผยแพร่ความคิด

(ข้อมูลเพิ่มเติม)
สันติภาพเกิดจากอิสรภาพและความสุข    
ดูเหมือนว่า มนุษย์จะมีความฝักใฝ่โน้มเอียงไปในทางที่จะก่อความขัดแย้งและความรุนแรงมากกว่าจะสร้างสรรค์สันติภาพ เห็นได้ชัดว่า การทำลายสันติภาพง่ายกว่าการรักษาสันติภาพ
     
การขัดแย้งและสงครามกลายเป็นปกติวิสัย ส่วนสันติภาพเป็นเพียงภาวะแทรกคั่นชั่วคราว สภาพเช่นนี้มิใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้ ความขัดแย้งเกิดขึ้นที่ใจ และที่ใจนั่นแหละ เราจะแก้ไขความขัดแย้งได้ ตัวเราก็ใจของเรานั่นเอง เมื่อเราปล่อยให้ความอยากได้ผลประโยชน์ในวัตถุขยายตัวเพิ่มขึ้นมาโดยไม่ได้ควบคุมเราจะมองเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นปฏิปักษ์ และมองเห็นธรรมชาติเป็นวัตถุที่จะนำมาใช้หาประโยชน์    
เมื่อมีความเชื่อว่าความสุขที่แท้จะลุถึงได้ด้วยการบำรุงบำเรอความสุขทางเนื้อหนัง เราก็ได้พัฒนาวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยมสุดโต่งขึ้นมาทำให้การแข่งขันและการบริโภคกลายเป็นแบบแผนของการใช้ชีวิต และเป็นที่ทุ่มเทพลังงานของสังคม มนุษย์ได้กลายเป็น “นักบริโภค” ผู้อุทิศตัวให้แก่วิถีชีวิตแห่งการแข่งขันเพื่อการบริโภค แต่การแข่งขันนั้นได้ทำให้เราตกอยู่ในสภาวะของการมี “สงครามเย็น” อย่างถาวร เพื่อนบ้านของเราและวิถีชีวิตแบบบริโภคก็ทำให้เราเกิดปัญหากับสภาพแวดล้อม
     
ศักยภาพในการเป็นสัตว์ที่ฝึกได้และสามารถกระทำการที่สร้างสรรค์นี่แหละ ที่เป็นพรพิเศษของความเป็นมนุษย์
     
การศึกษานั้นละเลยศักยภาพที่แท้จริงของเรา ทำให้เรามิได้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข วัตถุมีจำนวนล้นเหลือเพิ่มขึ้น แต่ความสุขกลับน้อยลง แล้วทำให้เราสูญเสียอิสรภาพ
     
การศึกษาเป็นกุศลและมีดุลยภาพ จะฝึกฝนมนุษย์ให้พัฒนาความสามารถมิใช่จะแสวงหาวัตถุมาเสพเท่านั้น แต่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย
   
เมื่อคนมีความสุขง่ายขึ้น ความต้องการวัตถุมาเสพก็ลดน้อยลงไป ทำให้การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวพลอยลดน้อยลงไปด้วย
    
คนที่มีความสุขอยู่ข้างในแล้วก็มีจิตโน้มน้อมไปในทางที่จะช่วยทำให้คนอื่นมีความสุข ในเมื่อวัตถุบำรุงบำเรอต่าง ๆ มิใช่เป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้เขามีความสุข เขาก็สามารถแบ่งปันวัตถุเหล่านั้นให้ผู้อื่นได้ ความสุขที่แต่ก่อนนี้เป็นแบบแก่งแย่งช่วงชิงก็เปลี่ยนมาเป็นความสุขแบบเผื่อแผ่และประสานกลมกลืน
    
ในระบบแข่งขัน คนจะมองความหมายของความเสมอภาคในแง่ของการปกป้องตัวเอง และเรียกร้องสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกันในการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตน
    
ในระบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามธรรมความเสมอภาคกลายเป็นภาวะที่ช่วยให้เราเกิดมีโอกาสมากที่สุดที่จะร่วมมือสร้างสรรค์เอกภาพและประโยชน์สุขให้แก่สังคม
     
การศึกษาที่ไม่ถูกต้อง ทำให้คนหลงผิดไปว่าเขาจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อมีวัตถุเสพ จึงทำให้เขานำเรี่ยวแรงความเพียรพยายามหาความสุขจากภายนอกแบบนี้ ย่อมต้องมีความเครียดและความทุกข์แฝงมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    
ในระดับที่สูงขึ้นไป มนุษย์สามารถฝึกฝนพัฒนาตนให้รู้จักสร้างความสุขภายในขึ้นได้ โดยบำเพ็ญข้อปฏิบัติต่างๆ เช่น การรู้จักมนสิการ และการทำจิตภาวนาซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากจิตอันนิ่งสงบและปัญญาที่รู้ความจริงแล้ว จะช่วยให้เราหลุดพ้นไปจากการกระทำทั้งหลายที่เป็นการเบียดเบียนและเห็นแก่ตัว
    
ในขั้นสูงสุด การพัฒนาคนจะนำไปสู่การรู้แจ้งสัจธรรม และความเข้าใจทั่ว ตลอดถึงความสัมพันธ์อิงอาศัยกันและกันของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งชีวิตของราทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัว
    
เมื่อปัญญารู้แจ้งสอดคล้องกับสัจธรรมแล้วก็จะเกิดความหลุดพ้นเป็นอิสระ และเมื่อนั้น สภาวะแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย อันเป็นสามัญลักษณะของสังขารทั้งปวงในโลกนี้ ก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดความเครียด ความกดดันวุ่นวายใจ และความทุกข์แก่เราได้อีกต่อไป
    
เมื่อเรามัวแต่วุ่นวายหาความสุข เราก็ไม่มีเวลาให้แก่ผู้อื่น ความสุขก็กลายเป็นสิ่งที่เราขาดแคลน ต้องคอยตามหาด้วยความหวังว่าจะได้ในอนาคต อาการหิวกระหายความสุขนี้แพร่ระบาดไปทั่วเป็นกันอยู่ดาษดื่น ปรากฏให้เห็นว่าทั่วไปในสังคมทุกวันนี้
    
จงถามตนเองให้น้อยลงว่าฉันจะได้อะไรและจงถามตนเองให้มากขึ้นว่า ฉันจะทำอะไรเพื่อผู้อื่นได้บ้าง ในทำนองเดียวกันพึงมองเห็นคุณประโยชน์ที่ธรรมชาติได้ให้แก่เรา แทนที่จะเรียกร้องเอาจากมันมากยิ่งขึ้นไปอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน
    
พึงเรียนรู้ด้วยใจชื่นชม โดยมีจิตสำนึกมองเห็นคุณค่าที่ธรรมชาติและผู้คนที่อยู่รอบข้างเราได้ช่วยเหลือเกื้อกูลให้เรามีชีวิตเป็นอยู่ด้วยดีในบัดนี้ ด้วยการฝึกฝนพัฒนาวิธีคิดแบบกตัญญูรู้สำนึกคุณอย่างนี้ ความเอื้ออาทรและความสุขแบบประสารก็จะก่อให้เกิดขึ้น สุดท้าย เราจะบรรลุสันติภาพได้ด้วยปัญญาที่ประกอบด้วยกรุณาดังกล่าวมานี้
    
เราจะเริ่มสัมพันธ์กับความจริงหรือสัจธรรมนั้นได้ ก็ด้วยความรู้และปัญญาเท่านั้น เพราะฉะนั้นในการเกี่ยวข้องกับความจริง จึงควรส่งเสริมการสากัจฉา และเสรีภาพในทางความคิด ควรพัฒนาให้มีวัฒนธรรมที่ความรักใคร่ไมตรีและการร่วมมือกันเป็นมาตรฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แต่พร้อมนั้นก็ให้เสรีภาพและการแสวงหาความรู้อย่างไม่ต้องประนีประนอมกันเป็นมาตรฐานสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัจธรรม
    
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในยุคสมัยที่ผ่านมานี้โดยส่วนใหญ่ได้ถูกกำหนดโดยวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศาสนาและปรัชญาของตะวันตก ซึ่งทำให้มนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ
     
วัตถุประสงค์ของวิทยาศาสตร์ก็คือ การที่จะพิชิตและครอบครองธรรมชาติ แล้วนำเอาธรรมชาติมาจัดสรรสนองความต้องการในการหาผลประโยชน์ของมนุษย์ทัศนคติแบบที่เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติเช่นนี้ ซึ่งได้แปรออกเป็นปฏิบัติการในเชิงหาผลประโยชน์แบบเห็นแก่ตัว โดยอาศัยเทคโนโลยีได้ก่อให้เกิดผลร้ายแก่สภาพแวดล้อมอย่างร้ายแรง ดังที่เราประสบอยู่ทุกวันนี้
     
ถึงเวลาที่วิทยาศาสตร์จะต้องกลับตัวเปลี่ยนท่าทีและนำอารยธรรมให้ก้าวหน้าไปในทิศทางใหม่ มนุษย์จะต้องแสวงหาความรู้มิใช่เพื่อมุ่งแต่จะหาผลประโยชน์อย่างเห็นแก่ตัว แต่จะต้องแสวงหาความรู้เพื่อเอามาเป๋นประทีปส่องช่วยชี้ช่องทางให้เรามองเห็นวิธีที่จะได้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยไม่ต้องทำร้ายมัน เทคโนโลยีจะต้องได้รับการกำหนดบทบาทให้ชัดเจนมากขึ้น โดยมุ่งที่จะใช้เป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนและประสานกลมกลืน
    
หากเราหวังจะสถาปนาสันติภาพในโลกนี้ให้สำเร็จ จิตใจต้องเข้าถึงความสงบ สามารถประสบสันติสุขภายใน และความสุขที่เป็นอิสระ หลุดพ้นจากความใฝ่ทะยานหาสิ่งเสพ บำเรอสุข ความใฝ่แสวงอำนาจ และบรรดาทิฐิที่ก่อให้เกิดความแก่งแย่งและ
แบ่งแยกทั้งหลาย ภาวะนี้จะสำเร็จได้ก็ต้องมีการฝึกฝนพัฒนาบุคคล ซึ่งก็คือภารกิจของการศึกษา
(คัดจาก “ย่อความ คำปราศรัยของพระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) ในวันรับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ ณ กรุงปารีส วันที่ 21 ธันวาคม 2537 โดย เจือจันทน์ อัชพรรณ” กลุ่มขันธ์ห้าจัดพิมพ์)

เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย musa

รายการบล็อกของฉัน