Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2564

การทดลองสร้างมนุษย์ล่องหนจากเซลปลาหมึกกล้วย

การทดลองสร้างมนุษย์ล่องหน

ที่ผ่านมา เรื่องราวของมนุษย์ล่องหนถูกนำมาเล่าในภาพยนต์หลายเรื่อง ทั้งหนังแอ็กชั่นแฟนตาซีสุดมันส์อย่าง Fantastic Four จากค่ายมาร์เวลคอมมิกส์ โดยในเรื่องมีอินวิซิเบิลเกิร์ล หรือ ซูซาน สตอร์ม ริชาร์ดส ฮีโร่สาวผู้มากับพลังล่องหน

หรือจะเป็นหนังเรื่องเดอะ ลีค มหัศจรรย์ชนคนพิทักษ์โลก ที่มีมนุษย์ล่องหนนาม ร็อดนีย์ สกินเนอร์ นำแสดง โทนี่ เคอแรน แต่เวลาจะไปไหนมาไหนทีก็ต้องสวมแว่นกันแดดและนำครีมสีขาวมาทาหน้า เพื่อให้คู่สนทนามองเห็นรูปร่างหน้าตาของเขาได้

นอกจากหนังแฟนตาซีแล้ว มนุษย์ล่องหนเองก็เคยปรากฏตัวอยู่ในหนังแนวสยองขวัญอย่าง Invisible Man กำกับโดย ลีห์ วานเนล ที่เล่าเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่โดนมนุษย์ล่องหนตามรังควานจนทุกคนคิดว่าเธอเป็นบ้า แต่ไม่ว่าเรื่องราวของมนุษย์ล่องหนจะถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบไหน เรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้นก็ช่างดูน่าสนใจเสียเหลือเกิน จนบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่า ในโลกแห่งความจริงที่ไม่มีเวทมนต์หรือพลังวิเศษ เราจะมีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนคนเป็นมนุษย์ล่องหนได้จริงมั้ย

และวันนี้พวกเรา eduHUB จะขอพาท่านผู้ชมทุกท่านไปดูการทดลองสร้างมนุษย์ล่องหนกัน แต่มันจะมีหลักการยังไง 

การทดลองนี้จัดทำโดยทีมนักวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical engineers) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ (Union Cycliste Internationale – UCI) ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Nature Communications ซึ่งเป็นวารสารที่รวบรวมงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

แต่ก่อนที่เราจะสามารถทำให้มนุษย์ทั้งคนล่องหนหายไปได้จริงๆ ทางทีมวิจัยได้เริ่มจากการทำให้เซลล์ของมนุษย์ให้ล่องหนก่อน ซึ่งการจะทำให้บางสิ่งบางอย่างล่องหนได้หรือไม่ มันขึ้นอยู่กับแสงที่เดินทางผ่านวัตถุนั้น ยิ่งวัตถุมีความโปร่งแสงมากเท่าไหร่ แสงก็จะยิ่งเดินทางผ่านได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็เท่ากับการล่องหน รวมถึงการกระเจิงของแสงที่เป็นการหักเหของรังสีที่เป็นเส้นตรงด้วย 

ในการทดลองนี้ ทีมวิจัยจึงได้พยายามควบคุมแสงจนในที่สุดก็สามารถทำให้เซลล์ไตของมนุษย์ธรรมดาโปร่งใสขึ้นมาจนดูราวกับว่ากำลังล่องหนได้ และถ้าอยากกลับมาเป็นเหมือนเดิม ทีมวิจัยก็ทำให้มันกลับมาทึบแสงเหมือนเดิมได้อีกด้วย

เทคนิคดังกล่าวนี้ไม่ใช่เวทมนต์ แต่เป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “พันธุวิศวกรรม” โดยเริ่มแรกทีมวิจัยได้สังเกตเห็นเซลล์ชนิดหนึ่งที่ควบคุมการส่องผ่าน หักเห หรือสะท้อนของแสงในตัวของปลาหมึกกล้วย เซลล์ที่ว่านี้จะผลิตโปรตีนชื่อ “รีเฟล็กติน” (Reflectin) ออกมา ทำให้หมึกกล้วยสามารถเปลี่ยนสีหรือทำตัวเองให้ใสจนโปร่งแสงเพื่อพรางตัวในท้องทะเลได้ 

ด้วยไอเดียจากหมึกกล้วยนี้เองที่ทีมวิจัยได้นำมาต่อยอดและทดลองใช้กับเซลล์มนุษย์ โดยการผ่าตัดพันธุกรรมของเซลล์ไตให้แสดงยีนที่ผลิตโปรตีนรีเฟล็กตินออกมา จนในที่สุดเซลล์ไตก็สามารถผลิตโปรตีนรีเฟล็กตินได้เหมือนกับหมึกกล้วยไม่มีผิดเพี้ยน ซึ่งโปรตีนที่ว่านี้ก็ทำให้เซลล์ล่องหนได้

สำหรับคนที่กังวลว่าการล่องหนของเซลล์ไตนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเจ้าของไตในระยะยาวหรือไม่ เราก็ต้องขอยอมรับกันตามตรงว่าการทดลองนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะเซลล์ไตที่นำมาทดลองไม่ได้อยู่ในร่างกายของคนจริงๆ แต่เป็นเซลล์ที่แยกนำมาเพาะเลี้ยงบนจานทดลองต่างหาก เพื่อให้ง่ายต่อการทดลองและติดตามผล

นอกจากนี้ งานวิจัยยังระบุอีกด้วยว่า เราสามารถควบคุมการล่องหนของเซลล์ไตได้ผ่านการควบคุมความเข้มข้นของเกลือ ถ้าเราอยากให้เซลล์ที่ผลิตโปรตีนรีเฟล็กตินทึบแสง เราก็แค่เพิ่มปริมาณเกลือให้มากขึ้น เมื่อโมเลกุลของโปรตีนรีเฟล็กตินได้รับเกลือเข้าไปมากๆ มันก็จะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้แสงที่เดินทางมาตกกระทบกระเจิงออกไปมากขึ้น เซลล์ไตจึงมีความทึบแสงมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม

ถ้าเราอยากให้เซลล์ล่องหน เราก็ลดปริมาณเกลือภายในเซลล์ลง ยิ่งเกลือน้อยเท่าไหร่ โปรตีนรีเฟล็กตินก็ยิ่งหดเล็ก ทำให้เซลล์โปร่งใส่ขึ้นจนเหมือนล่องหนไปเลย

นับว่าเป็นเรื่องที่สุดยอดมากที่เราสามารถควบคุมแสงและทำให้เซลล์ล่องหนได้อย่างใจนึก แต่ทั้งนี้การจะทำให้คนทั้งคนล่องหนหายไปได้เหมือนในภาพยนตร์อาจจะต้องผ่านการศึกษาเพิ่มเติมมากกว่านี้ เพราะการในร่างกายของมนุษย์มีปัจจัยและข้อจำกัดหลายอย่างที่ซับซ้อนกว่าการทำเซลล์ล่องหนในจานทดลอง

แต่อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นก้าวแรกที่สำคัญสู่ความฝันที่จะสร้างมนุษย์ล่องหนของจริง ซึ่งผลจากการทำลองนี้สามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจและต่อยอดไปสู่การทดลองอื่นๆ ต่อไปอีกได้ในอนาคต

รายการบล็อกของฉัน