Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2564

“อิลิปิกา” สัตว์หายาก – ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดของโลก (ตอนนี้เหลือไม่ถึง 1 พันตัว)


เป็นระยะเวลากว่า 30 ปีแล้ว ที่ตัว “อิลิปิกา” (Ili Pika) ปรากฏตัวขึ้นมาให้โลกรู้จัก เป็นสัตว์ตัวจิ๋วสุดน่ารักคล้ายหนูผสมกระต่าย หน้าตาเหมือนตุ๊กตาหมี ใบหูกลมใหญ่ อาศัยอยู่บนเทือกเขาสูงในประเทศจีน ที่ตอนนี้เป็นสายพันธุ์ตัวปิก้าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก

โดย “อิลิปิกา” ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1983 บนเทือกเขาเทียนซาน ขณะที่ เหวยตง หลี่ นักวิจัยจากสถาบันนิเวศวิทยาและภูมิศาสตร์ซินเจียง กำลังสำรวจธรรมชาติ เขาพบเห็นสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วคล้ายกระต่ายซ่อนตัวอยู่ในซอกหินบนหุบเขา มันมีขนาดตัวประมาณ 20 เซนติเมตร ขนสีเทา มีลายจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาล ซึ่งเขาไม่เคยพบสิ่งมีชีวิตตัวนี้มาก่อน จึงจับตัวอย่างมา 1 ตัวเพื่อตรวจสอบ

หลี่ส่งตัวอย่างไปยังศูนย์วิจัย Chinese Academy of Science จึงทราบว่านี่เป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ในตระกูลปิกา (Ochotona) และตั้งชื่อทางการให้ว่า “อิลิปิกา” ชื่อวิทยาศาสตร์ Ochotona iliensis แต่หลังจากการค้นพบครั้งนั้น ก็แทบไม่มีใครเคยพบมันอีกเลย (มีเพียง 29 ครั้งเท่านั้นที่มีรายงานการพบพวกมัน) ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยรู้จักและเข้าใจพฤติกรรมของเจ้าอิลิปิกาเท่าไหร่นัก

โดยสาเหตุที่ยากจะพบตัวอิลิปิกา เป็นเพราะมันอยู่บนเทือกเขาสูงที่ระดับความสูงประมาณ 2,800 – 4,100 เมตร แถมซ่อนตัวเก่ง เรียกได้ว่าถ้าไม่ใช่นักปีนเขาหรือนักวิจัยที่จงใจขึ้นไปตามหามันโดยเฉพาะ ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเจอตัวมันได้เลย 

ซึ่งครั้งล่าสุดที่มีการค้นหาอิลิปิกาอย่างจริงจัง คือเมื่อปี 2014 ที่นำโดย เหวยตง หลี่ ผู้ค้นพบอิลิปิกาคนแรก รวบรวมนักวิจัยอาสาสมัครมุ่งหน้าขึ้นไปยังเทือกเขาเทียนซาน และตั้งกล้องถ่าย โดยวางกับดักด้วยเมล็ดพืชเป็นเหยื่อล่อให้มันโผล่มาในเฟรม และพวกเขาก็ทำสำเร็จ “มันซ่อนตัวอยู่ที่หลังหิน มันน่ารักมาก เหมือนตุ๊กตาหมีที่ผมซื้อให้ลูกสาวเลย” – ทัตซึยะ ชิน หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว

จากการประเมินเมื่อปี 1990 ทาง IUCN คาดประมาณจำนวนอิลิปิกาในธรรมชาติอยู่ที่ราว 2,000 ตัว แต่สัตว์ที่อยู่บนเทือกเขาสูงแบบนี้มักอ่อนไหวต่อสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นับตั้งแต่การประเมินในปีนั้นจนถึงปัจจุบันก็ผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว แน่นอนว่าสภาพอากาศโลก ณ ตอนนี้ เปลี่ยนไปจาก ณ ตอนนั้นมาก ดังนั้น IUCN จึงคาดการณ์ว่า จำนวนอิลิปิกาในปัจจุบันอาจมีไม่ถึง 1,000 ตัวครับ

– “ปิกาจู” (Pikachu) ในโปเกมอนได้แรงบันดาลใจมาจาก “กระรอก” ไม่ใช่หนูอย่างที่เราเข้าใจกัน จากการให้สัมภาษณ์ของ อาสึโกะ นิชิดะ ผู้ออกแบบตัวปิกาจู แต่สาเหตุที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นหนู เพราะ ซาโตชิ ทาจิริ ผู้พัฒนาเกม Pokemon จัดให้ปิกาจูเป็นตัวละครประเภท “หนูไฟฟ้า” เพราะมันเหมือนหนูมากกว่ากระรอกนั่นเอง

รายการบล็อกของฉัน