Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564

ผลสแกนมัมมี่ฟาโรห์ นักรบผู้กล้า เก่าแก่ 3,600 ปี พบสิ้นชีพในพิธีประหารหลังพ่ายแพ้ศัตรู

ผลสแกนมัมมี่ฟาโรห์ "นักรบผู้กล้า" เก่าแก่ 3,600 ปี พบสิ้นชีพในพิธีประหารหลังพ่ายแพ้ศัตรู

มัมมี่ของฟาโรห์ เซเคเนนเร ทาว ที่สอง (Seqenenre Taa II)ภาพ,

ผลการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT scan) ตรวจสอบมัมมี่อายุเก่าแก่ 3,600 ปี ของฟาโรห์เซเคเนนเร ทาว ที่สอง (Seqenenre Taa II) พบว่ามีร่องรอยบาดแผลฉกรรจ์หลายแห่งบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ซึ่งชี้ว่าฟาโรห์หนุ่มพระองค์นี้น่าจะสิ้นพระชนม์ในพิธีประหารกลางสนามรบ หลังต้องพ่ายแพ้ให้กับข้าศึกศัตรู

รายงานการค้นพบล่าสุดทางโบราณคดีและการแพทย์ดังกล่าว ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers of Medicine โดยเป็นความพยายามไขปริศนาที่มีมาตั้งแต่การค้นพบมัมมี่ร่างนี้ครั้งแรก เมื่อปีค.ศ. 1881 โดยนักโบราณคดีต่างสงสัยกันว่า บาดแผลร้ายแรงซึ่งผู้ทำมัมมี่ได้พยายามปกปิดซุกซ่อนไว้นั้น เกิดจากสาเหตุใดกันแน่

ฟาโรห์เซเคเนนเร ทาว ที่สอง ซึ่งมีฉายาว่า "ผู้กล้า" เป็นกษัตริย์ที่ปกครองอียิปต์ตอนใต้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 5 ปี เมื่อราว 1,558 - 1,553 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นผู้นำทัพต่อต้านการรุกรานของราชวงศ์ฮิกซอส (Hyksos) จากภูมิภาคเอเชียตะวันตก ซึ่งเข้ามาตั้งอาณาจักรอยู่ในอียิปต์ทางตอนเหนือ โดยราชวงศ์นี้พยายามบุกเข้ายึดครองดินแดนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ในสมัยนั้นด้วย

ก่อนหน้านี้ ผลการวิเคราะห์มัมมี่ของฟาโรห์เซเคเนนเร ทาว ที่สอง ด้วยเครื่องเอกซเรย์ชนิดธรรมดาในช่วงทศวรรษ 1960 พบเพียงบาดแผลบางแห่งที่ส่วนบนของศีรษะ ทำให้มีข้อสันนิษฐานเกิดขึ้นหลายแนวทางว่า ฟาโรห์พระองค์นี้อาจถูกลอบปลงพระชนม์ขณะบรรทมหลับในพระราชวัง หรือถูกข้าศึกรุมทำร้ายขณะที่อยู่ในสนามรบก็เป็นได้

เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุของการสิ้นพระชนม์ที่แน่ชัด ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไคโรร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณวัตถุของอียิปต์ ได้นำร่างมัมมี่ดังกล่าวมาตรวจสอบอีกครั้งด้วยเครื่องซีทีสแกน ซึ่งจะฉายภาพสามมิติภายในส่วนที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน กระดูก และหลอดเลือดได้ดีกว่า ทำให้พบว่ากะโหลกศีรษะของมัมมี่ฟาโรห์มีร่องรอยความเสียหายจากคมอาวุธทิ่มแทง จนอยู่ในสภาพยับเยินมากกว่าที่เคยคาดเอาไว้

ผลสแกนพบว่าส่วนหน้าและส่วนบนของกะโหลกศีรษะเต็มไปด้วยบาดแผลร้ายแรงจากคมอาวุธหลายชนิด

ผลสแกนครั้งล่าสุดนี้ยืนยันว่า ฟาโรห์เซเคเนนเร ทาว ที่สอง ทรงอยู่ในวัยหนุ่มใหญ่ราว 40 ปี ในขณะที่สิ้นพระชนม์ ฝีมือการทำร่างมัมมี่ของพระองค์นั้นไม่สู้จะประณีตนัก โดยผู้ทำมัมมี่ไม่ได้โรยเกลือให้ศพแห้ง และไม่ได้นำสมองออกจากโพรงกะโหลกศีรษะตามที่ควรจะเป็นอีกด้วย ซึ่งชี้ว่าการทำมัมมี่ครั้งนี้เกิดขึ้นในสถานที่ห่างไกลจากพระราชวัง และอาจเป็นในสนามรบก็เป็นได้

บาดแผลที่ถูกของมีคมผ่าเข้าตรงกลางหน้าผากด้านขวา, รอยเจาะเหนือดวงตาขวา, จมูกและโหนกแก้มที่แตกยับเยิน, รอยตัดที่แก้มซ้าย และรอยแตกเหนือหูข้างขวา ล้วนอยู่ในองศาที่บ่งชี้ว่า ผู้สังหารฟาโรห์อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าพระองค์และเผชิญหน้ากันโดยตรง โดยคนกลุ่มนี้มีจำนวนหลายคนและใช้อาวุธต่างชนิดกัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบร่องรอยบาดแผลดังกล่าวกับรูปทรงอาวุธของชาวฮิกซอสในพิพิธภัณฑ์ พบว่าตรงกันพอดิบพอดี

อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยพบว่าท่าทางการวางมือของมัมมี่กษัตริย์ที่ค่อนข้างประหลาดในกรณีนี้ เกิดจากความพยายามแก้ไขท่อนแขนและมือที่ถูกมัดไพล่หลังไว้ก่อนตาย ซึ่งทำให้ศพที่กลายสภาพแข็งทื่อไปอย่างรวดเร็วเกินคาด มีท่าทางการวางมือที่บิดเบี้ยวผิดสังเกตดังกล่าว นอกจากนี้ยังไม่พบร่องรอยบาดแผลจากการใช้แขนปัดป้องอาวุธที่ใช้ทำร้ายด้วย

ศาสตราจารย์ ซาฮาร์ ซาลีม นักรังสีวิทยาชาวอียิปต์กับเครื่องซีทีสแกนที่ใช้ศึกษาร่างมัมมี่

จากการรวบรวมหลักฐานทั้งหมดข้างต้น นักโบราณคดีสามารถชี้ชัดได้ว่า ในขณะที่ฟาโรห์เซเคเนนเร ทาว ที่สอง สิ้นพระชนม์ ทรงประทับอยู่ในท่านั่งคุกเข่า ถูกมัดมือไพล่หลัง และถูกรุมสังหารด้วยคมอาวุธของศัตรูหลายคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าและหันหน้าเข้าหาพระองค์โดยตรง

ข้อมูลเหล่านี้อาจยืนยันได้ว่า มรณกรรมของฟาโรห์นักรบพระองค์นี้เกิดจากการถูกจับตัวเป็นเชลยศึกหลังรบแพ้ แล้วถูกนำตัวไปเข้าพิธีประหารชีวิตในสนามรบนั่นเอง ก่อนที่ร่างของพระองค์จะถูกทำเป็นมัมมี่อย่างเร่งรีบและส่งกลับมายังนครหลวง โดยผู้ทำมัมมี่พยายามใช้วัสดุต่าง ๆ ปกปิดบาดแผลน่าสยดสยองอย่างสุดความสามารถ
แม้จะพ่ายแพ้สงครามและสิ้นพระชนม์ไปก่อนวัยอันควร แต่บันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า ทายาทที่เป็นกษัตริย์รุ่นหลังสามารถปกป้องอาณาจักรอียิปต์ตอนใต้จากผู้รุกรานได้สำเร็จ ทั้งยังรวมดินแดนอียิปต์ให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวได้ในยุคราชอาณาจักรใหม่ (The New Kingdom) ช่วง 1,600 - 1,100 ปีก่อนคริสตกาลอีกด้วย

รายการบล็อกของฉัน